หินแกรนิตคือ? ประโยชน์ของหินแกรนิต ลักษณะที่ต้องรู้ก่อนนำไปใช้งาน
ข้ามผ่านกาลเวลามานับหลายพันปี จนกลายเป็นหนึ่งในวัสดุหลักที่ใช้สร้างสถานที่เก็บทรัพย์สมบัติและเป็นมหาสุสานของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอียิปต์ ณ มหาพีระมิดแห่งกีซ่า หนึ่งใน “เจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก” แสดงให้เห็นว่าหินแกรนิต (Granite) มีทั้งความสวยงามและความแข็งแกร่ง ที่สามารถรักษาสภาพให้คงอยู่มาจนถึงยุคปัจจุบัน
หินแกรนิต (Granite) มักถูกนำมาใช้เป็นวัสดุหลักเพื่อสร้างงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งภายใน ภายนอก และอาคารสิ่งปลูกสร้าง ปัจจุบันหินแกรนิตได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายในบ้าน ทั้งในรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน ไม่น่าเชื่อว่าจากหินธรรมดาๆ เมื่อนำมาแปรรูปจะกลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่มักจะปรากฏอยู่รอบตัวของเราเสมอ แล้วคุณเคยทราบไหมว่าเรื่องราวของหินที่แสนธรรมดาแต่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคุณอย่างหินแกรนิตนั้น มีความเป็นมาอย่างไร และอะไรที่ทำให้หินชนิดนี้ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของหินแกรนิต
จุดเริ่มต้นของหินแกรนิตมาจากหินอัคนี หินที่เกิดจากการหลอมเหลวของลาวาที่เย็นตัวลง และเกิดการตกผลึกภายใต้แรงดันมหาศาลใต้เปลือกโลก จนเกิดหินที่ประกอบด้วยผลึกแร่ขนาดใหญ่อย่างหินแกรนิตขึ้น องค์ประกอบของแร่ภายในหินแกรนิต ประกอบไปด้วย แร่ควอตซ์ ในปริมาณขั้นต่ำอยู่ที่ 20% และแร่เฟลด์สปาร์ 35% ในขณะที่สัดส่วนที่เหลือสามารถเกิดจากแร่ชนิดอื่น เช่น แร่ไมกา แอมฟิโบล ฮอร์นเบลนด์ หรือไพรอกซีน เป็นต้น จากกระบวนการเย็นตัวของแร่ธาตุเหล่านี้ เป็นเบื้องหลังที่ทำให้หินแกรนิตกลายเป็นหินที่มีความแข็งแรงและคงทน
เราสามารถพบหินแกรนิตได้จากทั่วทุกมุมโลก โดยบางประเทศสามารถพบหินแกรนิตได้ในหลายแห่ง จึงมีตัวเลือกในการนำมาใช้งานได้มากขึ้น เช่น ประเทศอิตาลีและจีน สามารถพบหินแกรนิตที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างความพิเศษและความน่าสนใจที่แต่งตากกันในแต่ละพื้นที่ของภูมิภาคต่างๆ
รวมถึงในไทยก็มีเหมืองหินแกรนิตอยู่หลายที่ โดยมักพบอยู่บริเวณตามแนวเขาหรือทิวเขาขนาดใหญ่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยมีการแบ่งออกไว้เป็น 3 แนว คือ ปริมณฑลตะวันออก ปริมณฑลตอนกลาง และแนวปริมณฑลตะวันตก แต่ละแนวปริมณฑลจะก็มีลักษณะเฉพาะตัว ลักษณะธรณีเคมีของ หินแกรนิตก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแนว โดยหินแกรนิตที่ได้รับความนิยมหลัก เลยก็คือหินแกรนิตดำไทย เขาโทน พนมสารคาม แต่ก็ยังมีหินแกรนิตอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ในไทยอีกหลายชนิด
ลักษณะและประเภทของหินแกรนิต สุทนทรียศาสตร์ “ความงามของหินแกรนิต”
สีของหินแกรนิตเกิดจากแร่ธาตุต่างๆ ที่พบภายในหิน ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณและสัดส่วนของแร่ธาตุที่ประกอบอยู่ภายในหิน ยกตัวอย่างเช่น หากมีแร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์เป็นองค์ประกอบ จะทำให้เนื้อหินแกรนิตเป็นสีแดงหรือสีชมพู
ในขณะที่แร่ควอตซ์จะทำให้เนื้อหินเป็นสีขาวหรือสีเทา
สำหรับสีอื่นๆ เช่น สีเหลืองเกิดจากแร่มัสโคไวท์ สีดำและสีเขียวเกิดจากแร่แอมฟิโบล และสีน้ำตาลเกิดจากแร่ไบโอไทต์ นอกจากนี้ในส่วนของสีน้ำตาล เทาเข้มและลายแต้มที่แวววาวนั้น เกิดจากแร่ไมกาเป็นส่วนประกอบภายในหิน
หินแกรนิตสามารถแบ่งลวดลายได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทลายแต้ม และประเภทลายเส้น
โดยประเภทลายแต้มเกิดจากหินแกรนิตที่ใช้เวลาในการเย็นตัวและระบายความร้อนนานกว่าในกระบวนการตกผลึก ลวดลายของมันจึงเหมือนการนำสีสันมาแต้มบนตัวหิน เป็นจุดเล็กบ้างหรือเป็นลายเม็ดหินขนาดใหญ่บ้าง ซึ่งเป็นลวดลายที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ในขณะที่หินแกรนิตประเภทที่มีพื้นผิวเป็นลายเส้นนั้น ลวดลายที่ปรากฏอยู่รอบเนื้อหิน มีรูปแบบคล้ายกับลายเส้นแร่ของหินอ่อน แต่จะยังมีความเป็นเม็ดแร่อยู่ ช่วยแสดงถึงอารมณ์ที่ให้ความรู้สึกอิสระมากกว่าหินแกรนิตลายแต้ม
ข้อดี ข้อเสียของหินแกรนิต
ข้อดี
- มีความแข็งแรง ทนต่อรอยขีดข่วน และสภาพอากาศต่าง ๆ
- ทนกรด ทนด่าง ทนความร้อน
- สามารถติดตั้งได้หลากหลายจุด ทั้งภายในและภายนอก
- ลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
- ราคาเริ่มต้นถูก
ข้อเสีย
- หน้าหินยังมีรูพรุนอยู่ เพราะยังเป็นหินจากธรรมชาติ ทำให้ต้องมีการเคลือบหน้าหินก่อนการนำไปติดตั้งใช้งาน
ประโยชน์ของหินแกรนิต
ประโยชน์หลัก ๆ ของหินแกรนิต คือ เป็นหินที่มีความทนทานต่อรอยขีดข่วน และทนต่อสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี ด้วยความที่มีแร่ควอทซ์และเฟลด์สปาร์ประกอบอยู่ค่อนข้างสูง ทำให้หินแกรนิตมีค่าความแข็งอยู่ที่ระดับ 6-6.5 ซึ่งถือว่าแข็งแรงมาก ๆ จึงสามารถนำไปใช้ทำได้ทั้งวัสดุก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรง หรือเป็นวัสดุตกแต่งบ้านที่ได้ทั้งความสวยงามเป็นเอกลักษณ์และความแข็งแรง
การนำมาประยุกต์ใช้
ด้วยความแข็งแรงของหินแกรนิต จึงเหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างอาคาร พื้น เสาหิน กำแพง ซึ่งเป็นที่นิยมมากในโบราณสถานต่าง ๆ หรือแม้แต่ในอาคารสมัยใหม่ก็ยังมีการนำมาใช้ในการก่อสร้าง หรือจะเป็นป้ายหน้าบ้าน ป้ายบริษัท หรือป้ายสถานที่ราชการต่าง ๆ ก็มีการใช้หินแกรนิตกันอย่างแพร่หลายด้วยความทนทานของหิน
และยังสามารถนำมาใช้งานภายในบ้าน เพื่อให้เหล่าคนรักบ้านได้เพลิดเพลินกับคุณสมบัติต่างๆ ทั้งการนำมาปูบริเวณพื้น ก็สามารถรองรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ตลอดจนทนทานต่อรอยขีดข่วนและการสัมผัสกับกรดต่างๆ สำหรับการทำครัว หากคุณตัดสินใจเลือกหินแกรนิตมาตกแต่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านของคุณ ไม่ว่าจะอยู่ในบริเวณผนัง ปูพื้น หรือท็อปเคาน์เตอร์ครัว ก็ไม่ทำให้คุณผิดหวังอย่างแน่นอน พิสูจน์แล้วจากงานสถาปัตยกรรม และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ใช้หินแกรนิตเป็นวัสดุหลัก ซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัยก็ยังคงทนและได้รับการยอมรับอยู่เสมอ